หมุดหลักฐานภาคพื้นดิน (Ground Control Point)
หมุดหลักฐานภาคพื้นดิน โครงการจัดทำแผนที่เพื่อการบริหารทรัพยากรธรรมชาติและทรัพย์สินของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการรังวัดขยายจุดบังคับภาพเพื่อการจัดทำภาพถ่ายออร์โธสี ให้มีความถูกต้อง ในเกณฑ์ของงานที่ดินรายแปลง และใช้เป็นหมุดหลักฐานทางแผนที่สำหรับงานสำรวจรังวัดภาคพื้นดินของหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน มีคุณสมบัติและรายละเอียด ดังนี้

หมุดหลักฐานภาคพื้นดิน (Ground Control Point)
เป็นหมุดคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 0.50 x 0.50 x 1.00 เมตร หัวหมุดเป็นสแตนเลสสตีลขนาด Ø 6 เซนติเมตร หมุดหลักฐานส่วนใหญ่ตั้งอยู่ตามสถานที่ของหน่วยงานภาครัฐ และที่สาธารณะ หมุดแต่ละหมุดอยู่ห่างกันประมาณ 10 – 20 กิโลเมตร ใช้วิธีการรังวัดพิกัดตำแหน่งด้วยดาวเทียม GPS แบบ Static โดยโยงยึดกับหมุดหลักฐานทั้งทางราบและทางดิ่งของกรมแผนที่ทหาร ระบบพิกัด UTM(Universal Transverse Mercator) ใช้พื้นหลักฐานสากล WGS84 และ พื้นหลักฐาน Indian 1975 ใช้แบบจำลอง EGM96 ในการคำนวณปรับแก้ค่าระดับทะเลปานกลางและค่าความสูงเหนือรูปทรงรี (Ellipsoidal height) ในการแปลงค่าพิกัดจากพื้นหลักฐานสากล WGS84 ไปพื้นหลักฐานท้องถิ่น Indian datum 1975 ใช้ค่าพารามิเตอร์ ΔX= -204.5 เมตร , ΔY=-837.9 เมตร , ΔZ = -294.8 เมตร เกณฑ์ความถูกต้องพิกัดหมุดหลักฐานทางราบและทางดิ่ง มีความคลาดเคลื่อนไม่เกิน 5 เซนติเมตร